วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี

วนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี


วนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี อยู่ในท้องที่บ้านคอกวัว หมู่ที่ 1 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ประมาณ 1,875 ไร่ โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544








ลักษณะภูมิอากาศ

เนื่องจากตั้งอยู่ในภาคใต้ จึงมีสภาพภูมิอากาศเพียงฤดูฝนและฤดูร้อน มีฝนตกเกือบตลอดปี ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม อากาศค่อนข้างเย็นสบายและฤดูร้อนอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน สำหรับในที่โล่งบนภูเขาและช่องเขาจะมีลมแรงเนื่องจากเป็นภูเขาตั้งอยู่กลางที่นา






พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่า เป็นป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน ยางเสียน กระบาก เหรียง มะม่วงป่า รักเขา พิกุลป่า สมอ ไทรเลียบ งิ้ว ไพล พลอง ฝาด แก้ว หนามขี้แรด นน ไม้พื้นล่างได้แก่ มะกรูดผี ไม้โร (จั๋ง) เต่าร้าง กล้วยป่า ไม้เลื้อยชนิดต่างๆ สมุนไพรมีจำนวนมากได้แก่ คนทีดำ คนทีแดง จันทน์แดง สลัดได ดีปลีเชือก ส้มป่อย กาหลง ขอบชะนางแดง ขอบชะนางดำ ขอบชะนางขาว ดีงู กระดูกไก่ ขันทองพยาบาท เป็นต้น และมีกล้วยไม้ชนิดต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ รองเท้านารี
สัตว์ที่พบป่า ได้แก่ ลิงต่างๆ ลิ่น ชะมด อีเห็น กระจง กระรอก บ่าง เม่น กระแต นางอาย ค้างคาว สัตว์ป่าจำพวกนก ได้แก่ ไก่ป่า นกขมิ้น นกเขา นกเค้าแมว นกตบยุง เหยี่ยว กาเหว่า นกรอดชนิดต่างๆ นกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน นกกินปลี และนกกินแมลงชนิดต่างๆจำนวนมาก

                                                                                                             



แหล่งท่องเที่ยว
จุดชมวิว เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ล้อมรอบด้วยทุ่งนา สวนยางพารา และสวนผลไม้ เมื่อขึ้นไปบนภูเขาจะมีลานขนาดใหญ่ระดับความสูง 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นทัศนียภาพสวยงามรอบด้านได้คือทางทิศตะวันออกจะมองเห็นทะเลสาบสงขลา ทิศใต้จะมองเห็นตัวเมืองพัทลุง ทิศตะวันตกจะเห็นเขาพนมวังก์และถนนสายเอเชีย จุดสูงสุดบนยอดเขาจะมีโขดหินใหญ่ชาวบ้านเรียกว่า หลักช้างตั้งอยู่บนลานกว้างสวยงามมาก
ถ้ำพระนอน เป็นถ้ำอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาชัยบุรี (เขาเมือง) ขุดพบพระพระพุทธรูปสัมฤทธิ์หลายองค์ และช่างปูนพื้นเมืองได้ปั้นพระพุทธรูปปูนต่ำปางไสยาสน์ติดกับเชิงผาภายในถ้ำ ชาวบ้านนับถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ มีหินงอกหินย้อยสวยงาม กิจกรรม : - ชมประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา



แท่นท่านยอ (ลานอโศก) ตั้งอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขาชัยบุรี (เขาเมือง) และเขาพลู เดิมมีวัดตั้งอยู่คือ วัดในยอ(ไนย) โดยมีช่องเขาเป็นประตูเมืองติดต่อถึงถ้ำพระนอนได้ วัดในยอคงเป็นวัดเก่าที่สร้างในสมัยอยุธยาและใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
ปัจจุบันมีแท่นเป็นรูปปั้นงูขนาดใหญ่สีขาวอยู่ในบริเวณลานต้นอโศก ซึ่งมีอายุหลายร้อยปี มีสภาพร่มรื่นและมีน้ำผุดขึ้นจากใต้ดินไหลผ่าน นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์
หน้าผาเขาชัยบุรี (เขาเมือง) มีลักษณะเป็นภูเขาหินสูง ประกอบด้วยหินปูนสีน้ำตาลเทาถึงเทาเข้มและเป็นชั้นหนาประมาณ 5-30 เซนติเมตร หินปูนส่วนใหญ่จะถูกแทนที่ด้วยแร่โคโรไบต์มีสีชมพูหรือสีส้มผสม ดังนั้นบริเวณที่เป็นโขดหินใหญ่จะมีหน้าผาที่มีสีสัน






บ้านพัก-บริการ
วนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากมีความประสงค์จะไปพักแรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาต ใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่วนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรีโดยตรง


การเดินทาง
รถยนต์ เส้นทางคมนาคมจากตัวเมืองจังหวัดพัทลุง เป็นถนนลาดยางตลอดสาย ไปทางทิศเหนือถึงบริเวณเขาชัยบุรีและเขาพลู ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร เดินทางต่อไปทางทิศตะวันออก ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร และย้อนกลับลงมาทางทิศใต้เข้าตัวเมืองพัทลุงโดยผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 เป็นระยะทาง 14 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
วนอุทยานเมืองเก่าชัยบุรี สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 20 (สงขลา) ต.ชัยบุรี อ.เมือง จ.พัทลุง










          จังหวัดพัทลุง อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากกรุงเทพฯ ๘๖๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๓,๔๒๔.๔๗๓ ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองแห่งขุนเขาที่เก่าแก่โบราณเมืองหนึ่งของภาคใต้ ตัวเมืองมีเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์สูงเด่นมองเห็นแต่ไกล เป็นเมืองต้นกำเนิดหนังตะลุงและโนรา มีประวัติสันนิษฐานว่าพัทลุงเป็นเมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เขาหัวแดง ฝั่งตรงข้ามกับเมืองสงขลาในปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีภัยต่างๆ มารบกวนทำให้ต้องย้ายเมืองไปตั้งอยู่ตามตำบลต่างๆ หลายครั้ง
แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุงที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นอุทยานนกน้ำใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่นักดูนกทุกคนใฝ่ฝันจะมาเที่ยวชม นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติแล้ว โบราณสถาน วัดต่าง ๆ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราทราบถึงความเป็นมาของเมืองพัทลุง



อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคา จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือเขาบรรทัด เขตอำเภอห้วยยอด เมืองตรัง นาโยง ย่านตาขาว และปะเหลียน จังหวัดตรัง
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ ๓ เส้นทาง คือ
เส้นทางที่ ๑ ตามทางหลวงหมายเลข ๔ ถึงชุมพร (สี่แยกปฐมพร) แยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง จนถึงพัทลุง ระยะทางประมาณ ๑,๑๔๐ กิโลเมตร
เส้นทางที่ ๒ ตามทางหลวงหมายเลข ๔ ถึงชุมพร ให้เข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑ จนถึงจังหวัดพัทลุง ระยะทาง ๘๔๐ กิโลเมตร
เส้นทางที่ ๓ ตามทางหลวงหมายเลข ๔ ผ่านชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๐๓
จากนั้นจึงเข้าทางหลวงหมายเลข ๔๑ ที่ชุมทางเขาชุมทอง จนถึงพัทลุง
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟผ่านอำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง รายละเอียดสอบถาม โทร. ๑๖๙๐,   ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐  , ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๒๐ สถานีรถไฟพัทลุง โทร. ๐ ๗๔๖๑ ๓๑๐๖ www.srt.or.th
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถกรุงเทพฯ    พัทลุง    ทุกวัน มีรถออกที่สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี   สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๒๔๓๔ ๕๕๕๗-๘ , ๐ ๒๔๓๕ ๑๑๙๙, ๐ ๒๔๓๕ ๑ www.transport.co.th



เครื่องบิน จังหวัดพัทลุงไม่มีสนามบิน นักท่องเที่ยวสามารถลงได้ที่จังหวัดตรังหรือหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตารางการบินได้ที่ บมจ.การบินไทย โทร. ๑๕๖๖, ๐ ๒๒๘๐ ๐๐๖๐, ๐ ๒๖๒๘ ๒๐๐๐ สำนักงานตรัง โทร. ๐ ๗๕๒๑ ๘๐๖๖, ๐ ๗๕๒๑ ๙๙๒๓ สำนักงานหาดใหญ่ โทร. ๐ ๗๔๒๔ ๕๘๕๑-๒, ๐ ๗๔๒๔ ๓๗๑๑, ๐ ๗๔๒๓ ๓๔๓๓ www.thaiairways.com






ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ
กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ๑๖ กิโลเมตร
อำเภอควนขนุน ๑๗ กิโลเมตร
อำเภอเขาชัยสน ๒๘ กิโลเมตร
อำเภอศรีบรรพต ๓๕ กิโลเมตร
อำเภอป่าพะยอม ๓๘ กิโลเมตร

อำเภอตะโหมด ๓๙ กิโลเมตร
อำเภอกงหรา ๔๐ กิโลเมตร
อำเภอบางแก้ว ๔๐ กิโลเมตร
อำเภอป่าบอน ๕๐ กิโลเมตร
อำเภอปากพะยูน ๖๖ กิโลเมตร













ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน
มโนราห์หรือโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของโนรา สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียภาคใต้ พร้อมกับละครชาตรี แต่ท่าร่ายรำถูกเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมของคนแต่ละจังหวัด การร่ายรำมีท่าสำคัญ ๑๒ ท่า การแสดงจะดูท่าร่ายรำ ฟังบทร้องซึ่งผู้แสดงจะร้องเองโดยการด้นกลอนสดหรือร้องตามบทที่แต่งไว้
หนังตลุง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมทางภาคใต้ หนังตลุงจะทำจากหนังวัวดิบตากแห้งเป็นแผ่นแข็ง ตัดเป็นตัวละครต่าง ๆ สลักลวดลายสวยงาม โดยมากมักจะทาสีดำทั้งตัว ตัวหนังจะมีไม้ไผ่ผ่าเพื่อหนีบตัวหนัง เรียกว่าไม้ตับ ปากและมือจะขยับได้ตามลีลาของบทบรรยาย มีคนเชิดซึ่งเป็นคนพากษ์ และวงดนตรีรวมแล้วจำนวนไม่เกิน ๘ คน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ กลอง โพน ฆ้อง


เทศกาลและงานประเพณี
งานเทศกาลล่องเรือ-แลนกทะเลน้อย เป็นงานประเพณีที่เริ่มขึ้นใหม่เมื่อปี ๒๕๔๑ เพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวพิเศษในปีท่องเที่ยวไทย และให้เหมาะสมกับพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของพัทลุง มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นระยะเวลา ๑ เดือน (๑๔ กุมภาพันธ์-๑๕ มีนาคม) เป็นช่วงเวลาที่มีนกและธรรมชาติสวยงามที่สุด จัดบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย แต่ละวันจะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวนั่งเรือหางยาว เที่ยวชมนก และพรรณไม้น้ำ การแสดงพื้นบ้าน การจำหน่ายสินค้าเกษตร และวิถีชีวิตของชุมชน ตลอดจนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พื้นบ้านนานาชนิด





งานประเพณีแข่งโพนลากพระ (ชักพระ) เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ตรงกับเทศกาลออกพรรษา จะมีงานประเพณีลากพระหรือชักพระ ทั้งทางบกและทางน้ำ สำหรับจังหวัดพัทลุงเป็นการลากพระทางบก จะมีการตีโพน (กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลากของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน เมื่อผ่านวัดต่างๆ ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขันตีโพนขึ้นซึ่งมีการแข่งขันตีโพนเป็นประจำทุกปี บริเวณจัดงานอยู่ที่สนามกีฬา จังหวัดพัทลุง และหาดแสนสุขลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง กิจกรรมในงานมีการแข่งโพนจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง การประกวดขบวนแห่โพน การประกวดลีลาตีโพน


ไม่มีความคิดเห็น: